TH
โชห่วยไทย
สนับสนุนให้คุณมีรายได้

เรายินดีให้คำปรึกษาและเปิดการสอนสำหรับเปิดบริการร้านโชห่วย

เจาะเศรษฐกิจไทยยุค‘โควิด’รอบ 3 หั่น‘จีดีพี’อุตลุด-หนี้ครัวเรือนพุ่งปรี๊ด

เจาะเศรษฐกิจไทยยุค‘โควิด’รอบ 3 – จากการประเมินของหลายๆ ฝ่าย ไม่เพียงแต่เอกชนเท่านั้นแม้แต่หน่วยงานรัฐเองยอมรับว่า ‘โควิด-รอบ 3’ นอกจากจะคร่าชีวิตคนไทยจำนวนมากแล้ว

ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ชนิดที่ ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อ ปี 2540 ชิดซ้ายไปเลย

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการบริโภคภายในประเทศ คนตกงาน บริษัทปิดกิจการ ภาคการท่องเที่ยว ฯลฯ หัวปักลงเหวทั้งหมด และยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวด้วยซ้ำ

จะมีที่พอพึ่งพิงได้คือ ‘การส่งออก’ เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นกลับมาขับเคลื่อนได้มากขึ้น แม้ยังไม่ปกติเหมือนสมัยก่อนโควิดระบาดก็ตาม

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่กลายมาเป็นสายพันธุ์หลัก ทำให้การระบาดมีแนวโน้มรุนแรง และยืดเยื้อกว่าคาดการณ์ การระบาดเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนหลายๆ ตัวสำหรับป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็อาจจะลดลง

“การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดล่าสุด ที่แม้จะไม่ใช่การล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบเหมือนปีที่ผ่านมา แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มถูกกระทบใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบทั้งประเทศ และมีโอกาสที่จะลงลึกอย่างต่อเนื่อง”

ธปท.ประเมินความเสียหายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จะส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 0.8% แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ จะส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจถึง 2%

ประเมินเป็น 2 กรณีคือ 1.มาตรการที่เข้มข้นควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงได้ 40% จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้

และ 2.หากควบคุมการแพร่ระบาดลดลงไปได้แค่ 20% อาจส่งผลให้การแพร่ระบาดยืดเยื้อถึงสิ้นปี และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้สั่ง แต่ประชาชนก็อาจจะล็อกดาวน์ตัวเอง

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเทศ สำหรับประเทศไทยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงกว่าหลายประเทศ

โดยไตรมาส 1/2564 มีหนี้ครัวเรือนคิดเป็น 90.5% ของจีดีพี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากรายได้ประชาชนหดตัว ขณะที่ภาระหนี้เดิมที่มีอยู่เพิ่มสูงขึ้น

หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 34% สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต 28% และมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากมีเจ้าหนี้หลากหลาย

 

ส่วนภาคเอกชนโดย นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 1% จากประมาณการเดิมเมื่อเดือนมิ.ย. ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.8% ภายหลังการกลับมาระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดลตา ที่มีการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ขณะเดียวกันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยที่เร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความคาดหวังจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ว่าจะทำให้ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้คงต้องผิดหวังกันไป

เป็นผลสะท้อนต่อตลาดการเงินของไทยไปสู่เงินเฟ้ออ่อนๆ ไปถึงเงินฝืด และกดดันให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีต่อเนื่องถึงปัจจุบันขายไปแล้วเกือบ 9 หมื่นล้านบาท และหันมาซื้อตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารได้ประเมินค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้ที่ 30.50 บาท

“จากสถานการณ์โควิดนับตั้งแต่เหตุการณ์เขื่อนแตกใน จ.สมุทรสาคร ในปลายปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาถึงเขื่อนแตกช่วงสงกรานต์ปีนี้ จนถึงปัจจุบันเริ่มส่อแววว่าระบบสาธารณสุขของไทยเริ่มรับไม่ไหวแล้ว เป็นภาวะค่อนข้างวิกฤตแต่เมื่อเทียบอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดของไทยซึ่งอยู่ที่ 0.8% ยังถือว่าต่ำกว่าอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 2%”

อย่างไรก็ดีคงต้องฝากความหวังอยู่ที่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่เท่านั้นการเร่งจัดหา ยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สำหรับใช้บำบัดโรคก็มีความสำคัญไม่แพ้กันเพื่อลดความสูญเสียและปลดล็อกแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนลดอัตราการฆ่าตัวตายลงด้วย

ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นี่เองทำให้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ‘40 CEOs พลัส’ หารือแนวทางแก้ปัญหากับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ภาคเอกชนเสนอแนวทางและความคิดเห็น 4 ประเด็น

1.การควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยการจัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ ของภาคเอกชนร่วมกับ กทม. มีความสามารถที่จะเสริมการฉีดและรองรับการกระจายวัคซีนได้ทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้

การจัดยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และมาตรการ Isolation จัดให้มี Rapid Tests อย่างทั่วถึง สนับสนุนให้เอกชนจัดสถานที่ Isolation จัดให้มียารักษาอย่างพอเพียง เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักและไอซียู โดยเฉพาะในเขตสีแดงและแดงเข้ม

2.การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน ด้วยการขยายมาตรการที่เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกินกว่า 90 วัน ให้ได้รับการช่วยเหลือ

 

เร่งรัดออกมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นผู้มีรายได้ และผู้มีกำลังซื้อสูง นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทภายใน 1 ไตรมาส

4.การฟื้นฟูประเทศไทย ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด เช่น เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพสูง การศึกษายุคใหม่ และ Food for future เป็นต้น

ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่าเป็นห่วงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่กำลังเผชิญปัญหาในขณะนี้ เป็นอย่างมาก โดยเสนอแนวทางต่อภาครัฐไปแล้วหลายอย่างโดยเฉพาะด้านการเงิน

ดังนั้นจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม 4 แนวทาง

1.ให้พิจารณาเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เพิ่มขึ้นเป็น 60% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ได้มากขึ้น

 

2.พิจารณาให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินที่ เข้าเกณฑ์สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดจนถึง 3 ปี นับจากสิ้นสุดช่วงโควิด ไม่มีประวัติข้อมูลที่ บ่งบอกถึงประวัติการชำระหนี้หรือสินเชื่อในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิต บูโร)

3.ขอให้พิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยกู้ตามประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เขียนไว้ว่า “ให้สภาพคล่องแก่ ผู้ประกอบการที่ยังพอมีศักยภาพ” โดยให้เป็นดุลพินิจของสถาบันการเงิน

4.ให้ความช่วยเหลือในเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุข โดยการจัดหาชุดตรวจทดสอบหาเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ทั้งวิกฤตในแง่ต่างๆ ที่ยังรุมเร้าและการแก้ปัญหาที่เสนอโดยเอกชน รัฐบาลจะมีแผนรับมือหรือรับฟังขนาดไหน ต้องตามดูกันต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.khaosod.co.th